top of page
  • รูปภาพนักเขียนAttaneeya Yamasathienra

รู้จักประเภทของฉนวนกันความร้อน 8 ประเภทมีอะไรบ้าง

อัปเดตเมื่อ 26 มิ.ย.


การติดตั้ง ฉนวนกันความร้อน

เมื่อพูดถึงฉนวนกันความร้อน ในความเป็นจริงมีการใช้งานหลากหลายรูปแบบ ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง การขนส่ง และอาคารสิ่งก่อสร้าง แต่โดยส่วนมากคนทั่วไปมักจะนึกถึงวัสดุที่กั้นความร้อนเข้ามาในตัวอาคารหรือบ้าน ซึ่งการใช้งานแต่ละหมวดหมู่ก็จะประยุกต์ใช้แตกต่างกันไป ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า แล้วฉนวนกันความร้อนที่ใช้กันอยู่มีกี่ประเภท รวมถึงแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร และหากพูดถึงฉนวนกันความร้อนที่ใช้กับห้องเย็นจะเป็นแบบไหน? วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกัน!

ฉนวนกันความร้อนคืออะไร?


ฉนวนกันความร้อน คือ วัสดุที่หน่วงความร้อน ช่วยชะลอการส่งผ่านความร้อนไม่ให้แทรกซึมผ่านได้โดยง่าย ประโยชน์ของฉนวนกันความร้อน หากกล่าวถีงในการใช้งานกับอาคารที่พักอาศัย ไม่ใช่แค่กันความร้อนจากภายนอกเข้ามาภายในห้องหรืออาคารเท่านั้น ฉนวนช่วยลดทอนความร้อนที่จะแผ่เข้ามาสู่ภายใน ทั้งสะท้อนรังสีความร้อนส่วนกลับ และทำให้อาคารหรือบ้านไม่เป็นตัวกักเก็บความร้อน ซึ่งช่วยรักษาอุณหภูมิในห้องจากการใช้เครื่องปรับอากาศให้คงที่ จึงช่วยให้บ้านเย็นในช่วงหน้าร้อน และอบอุ่นในช่วงหน้าหนาว


ปัจจุบันวัสดุฉนวนกันความร้อนสำหรับบ้าน อาคารที่พักอาศัยมีหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติและคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากต้องการคุณภาพด้านการรักษาระดับอุณหภูมิภายในให้สม่ำเสมอและคงที่ ลดภาระความร้อนและความเย็น รวมถึงการประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย จึงขึ้นอยู่กับการออกแบบการใช้งานฉนวนกันความร้อนและการเลือกใช้ประเภทของวัสดุฉนวนกันความร้อนที่เหมาะสม


ประเภทของวัสดุฉนวนกันความร้อน


ฉนวนกันความร้อนเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันรังสีความร้อนไม่ให้เข้ามาในตัวบ้านหรืออาคาร โดยมักผลิตจากวัสดุดังต่อไปนี้


เซลลูลาร์กลาส (Cellular Glass)


เป็นฉนวนแก้วแบบเซลล์มีลักษณะเป็นโฟมแข็ง ก่อตัวจากการเป่าแก้วที่มีไฮโดรเจนซัลไฟด์ให้เกิดเป็นโฟมที่มีขนาดเล็กมาก เป็นฉนวนที่กั้นความชื้นได้อย่างสมบูรณ์และไม่ติดไฟ ใช้งานที่อุณหภูมิต่ำมากถึงสูงมากได้ ไม่เป็นพิษเมื่อใช้งานในอุณหภูมิสูง มีสภาพนำความร้อนปานกลางโดยมีค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.055 W/m.K ใช้งานได้ทั้งภายนอก ภายในอาคาร ใต้ดิน รวมถึงใช้งานโครงสร้างดาดฟ้าอาคาร พื้น และวัสดุด้านข้างของผนัง มีราคาสูง


ใยเซลลูโลส (Cellulosic Fiber)


เป็นฉนวนป้องกันความร้อน ฉนวนกันเสียง และฉนวนดูดซับเสียง ผลิตมาจากการนำไม้หรือกระดาษที่ใช้แล้วนำกลับมารีไซเคิลด้วยการแผ่หรือดึงให้กระจายออกและย่อยละเอียดจนเป็นปุย และประสานเข้าด้วยกันด้วยกรดบอแร็กซ์ เป็นวัสดุติดไฟจึงผสมสารหน่วงไฟซึ่งอาจกัดกร่อนเหล็กกล้า อลูมิเนียมและทองแดงหากใช้ร่วมกัน ดูดซึมความชื้นสูงจึงไม่เหมาะกับการใช้งานในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้น อาจยุบตัวตามอายุการใช้งาน มีสภาพนำความร้อนต่ำโดยมีค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.039 W/m.K การใช้งานฉนวนแบบแผ่นในโพรงผนัง ห้องเพดาน หรือแบบโฟมฉีดเข้าไปในช่องสำหรับเป็นฉนวนใต้ดาดฟ้า หลังคา มีราคาต่ำ


ใยแก้ว (Fiber Glass)


ฉนวนใยแก้วผลิตขึ้นจากการฟั่นก้อนแก้วแข็งด้วยการปั่นจนเป็นเส้นเกลียวบาง มีทั้งแบบแผ่นอัด แบบคลุมห่อ และแบบหุ้มท่อ ตัวฉนวนมีคุณสมบัติไม่ลุกไหม้แต่ตัวประสานที่ใช้ในการประสานเป็นฉนวนแบบเส้นใยอัดสามารถลุกไหม้ได้ หรือวัสดุผิวหน้าของฉนวนที่ประกอบด้วยกระดาษเคลือบก็ลุกไหม้ได้เช่นกัน ใช้งานในอุณหภูมิต่ำถึงสูงได้ ทนความร้อน ทนการกัดกร่อนทางเคมีและไฟฟ้า แต่ไม่ทนต่อความเปียกชื้นซึ่งทำให้ค่าความเป็นฉนวนสูญเสียไป มีสภาพนำความร้อนต่ำโดยมีค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.045 W/m.K สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งการนำไปเป็นฉนวนกันความร้อนหลังคาอาคาร ผนัง พื้น ห้องใต้ถุนตึก และเก็บรักษาความเย็น ไปจนถึงการดูดซับเสียง ในโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร และบ้าน


ใยแร่ (Mineral Fiber)


ฉนวนใยแร่หรืออาจเรียกว่า หินแร่ (Mineral Rock) ฉนวนประเภทนี้เป็นฉนวนที่ไม่มีสารประกอบของแร่ใยหิน (Asbestos) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยกรรมวิธิผลิตมาจากขี้โลหะจากการผลิตเหล็กกล้า ทองแดง หรือตะกั่ว นำมาฟั่นและปั่นจนเป็นเส้นเกลียวบาง โดยตัวฉนวนไม่ติดไฟและมีอุณหภูมิหลอมละลายสูงแต่ต้องการเปลือกหุ้มกั้นไอน้ำเนื่องจากสภาพซึมผ่านของไอนำ้สูงเมื่อมีวัสดุฉาบผิวหน้าทำให้จำกัดอุณหภูมิเพียงปานกลาง ไม่ทนต่อความเปียกชื้น รวมถึงตัวประสานที่ใช้ในการประสานเป็นฉนวนแบบเส้นใยอัดสามารถลุกไหม้ได้


สำหรับใยหิน (Rock wool) ผลิตจากหิน ได้แก่หินปูนและบะซอลท์ที่หลอมในเตาเผาและทำให้เป็นเส้นใย เส้นใยเหล่านี้จะเชื่อมกันเป็นผืนและถูกตัดเป็นชิ้นส่วนขนาดต่างๆ ทั้งชนิดแผ่นและแบบม้วน รวมทั้งสามารถเคลือบผิวได้หลายแบบ ทั้งฟอยด์ อลูมิเนียม และผ้าใยแก้ว


โดยทั้ง 2 ประเภท มีสภาพนำความร้อนต่ำโดยมีค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.045 W/m.K การใช้งานนำมาผลิตเป็นแบบแผ่นอัดฉนวนสำหรับมุงหลังคา มีคุณสมบัติกันความร้อนและเก็บเสียง จึงนิยมใช้ในอาคารสูง คอนโดมิเนียม การผลิตกระแสไฟฟ้าอุตสาหกรรม อาคารต่างๆ ระบบปรับอากาศและระบบกันไฟ แบบลักษณะวัสดุหุ้มอาคารหรือแบบม้วนจะเหมาะสำหรับงานประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมอื่นๆ งานท่อขนาดใหญ่ เป็นต้น


โพลีสไตรีนโฟม (Polystyrene Foam- EPS)


EPS Foam ย่อมาจากคำว่า Expandable Polystyrene เป็นฉนวนกันความร้อน แบบโฟมผลิตขึ้นมาใน 2 รูปแบบ คือ แบบโฟมอัดรีดและแบบโฟมหล่อ ที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างอาคารที่พัก ทางพาณิชย์และอุตสาหกรรม ช่วยลดการสูญเสียความร้อนผ่านโครงสร้างอาคารได้มาก สามารถกันได้ทั้งความร้อนและความเย็น ฉนวนโพลิสไตลีสเป็นสารที่ลุกไหม้ได้จึงต้องมีเปลือกหุ้มที่ต้านทานเปลวไฟอยู่ มีการดูดซึมความชื้นเล็กน้อยและเสื่อมสภาพหากถูกรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นระยะเวลานาน มีสภาพนำความร้อนต่ำโดยมีค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.029 W/m.K สามารถใช้งานเป็นฉนวนฐานรากอาคาร ฉนวนแผ่นฝาผนัง ฉนวนหลังคา ฉนวนประเภทนี้มีความทนต่อความร้อนไม่ดีนัก อาจหลอมละลายหรือยุบตัวหากสัมผัสกับความร้อน (เกิน 75ํC) เป็นเวลานาน ราคาโฟมหล่อจะถูกกว่าโฟมอัดรีด


โพลียูรีเทนโฟม (Polyurethane Foam- PU)


โพลียูรีเทนโฟม เป็นฉนวนที่มีสภาพนำความร้อนต่ำสุด ภายในประกอบไปด้วยก๊าซที่มีค่าการนำความร้อนตำ่ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.023-0.024 W/m.K หากฉาบผิวหน้าน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ ค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.019-0.020 W/m.K ผลิตจากวัสดุฟูลออโรคาร์บอนที่พ่นให้เป็นโฟมโดยการทำให้มีโครงสร้างแข็ง ซึ่งในปัจจุบันด้วยผลกระทบจากการใช้สารฟูลออโรคาร์บอนต่อภาวะเรือกกระจก จึงมีการใช้สารตัวอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันทดแทน โดยฉนวนโพลียูรีเทนมีรูปแบบทั้งการหล่อเป็นแผ่นแข็ง อัดเป็นแผ่น และรูปแบบฉีดเป็นฟองหรือสเปรย์ เป็นสารที่ลุกไหม้ได้จึงต้องหุ้มวัสดุหรือผสมสารที่หน่วงไฟไหม้เข้าไปในการประยุกต์ใช้งาน แต่ PU foam จะผสมสารไม่ลามไฟในตัว มีสภาพการซึมของนำ้และความชื้นต่ำ ใช้ในงานที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม เป๊นตัวหุ้มเฟรมโครงสร้าง ฉนวนหลังคา พื้นและฐานราก ฉนวนช่องโพรงผนังภายนอกและภายใน และห้องฉนวนเก็บความเย็นทั่วไปในราคาปานกลาง


โพลีซิโอไซยานูเรทโฟม (Polyisocyanurate Foam- PIR)


โพลีซิโอไซยานูเรทโฟม เป็นฉนวนที่มีสภาพนำความร้อนต่ำสุด การผลิตและการประยุกต์ใช้งานเหมือนกับโพลียูรีเทนโฟม โดยมีค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.023-0.024 W/m.K หากฉาบผิวหน้าน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ ค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน 0.019-0.020 W/m.K มีสภาพการซึมของนำ้และความชื้นต่ำ ข้อแตกต่างจากโพลียูรีเทนโฟมคือ ระดับการกระจายของเปลวไฟและการติดไฟจากส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงน้อยกว่า ใช้ในงานที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม เป๊นตัวหุ้มเฟรมโครงสร้าง ฉนวนหลังคา พื้นและฐานราก ฉนวนช่องโพรงผนังภายนอกและภายใน และห้องฉนวนเก็บความเย็นซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ฉนวนประเภทนี้ราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากใช้พลังงานความร้อนมากในการผลิต


รู้จักประเภทของฉนวนกันความร้อนกันไปแล้ว ต่อไปเราจะไปดูว่า หากต้องการสร้างห้องเย็น ต้องใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนถึงจะเหมาะสม

“โพลียูรีเทน” ฉนวนกันความร้อนที่นำมาทำห้องเย็น

"โพลียูรีเทน" ฉนวนกันความร้อนคุณภาพที่นำมาทำห้องเย็น


สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ การรักษาอุณหภูมิของอาหารเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะช่วยคงคุณภาพของอาหารและวัตถุดิบให้คงเดิมได้นานที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสร้าง “ห้องเย็น” ขึ้นมาเพื่อเก็บรักษาอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขภาพอนามัย


การออกแบบและก่อสร้างห้องเย็นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จะต้องเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ สามารถกันความร้อน และรักษาอุณหภูมิให้คงที่ อย่าง “โพลียูรีเทน” ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญดังต่อไปนี้


  • ค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำ (k) เพียง 0.019- 0.020 kcal./m.h°C เท่านั้น ซึ่งเป็นค่าสภาพนำความร้อนที่ต่ำสุดของวัสดุฉนวน

  • ความหนาแน่นสูงประมาณ 40-45 กก./ลบ.ม. ทำให้สามารถใช้ฉนวนที่บางกว่า ความจุภายในห้องเย็นจึงมากกว่า ไม่เสียพื้นที่ในการจัดเก็บ

  • คุณสมบัติค่าแทรกซึมความชื้นและดูดซึมน้ำต่ำ จึงมีความทนทานและไม่อมน้ำ ไม่อมความชื้น ทำให้ค่าความเป็นฉนวนไม่เสื่อมเร็ว

  • กันไฟลาม ชะลอการลุกไหม้ได้ดี ปลอดภัย ลดการสูญเสียในกรณีที่เกิดอัคคีภัย

  • แข็งแรง อายุการใช้งานยาวนาน ไม่ต้องบำรุงรักษาซ่อมแซมบ่อยครั้ง

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว จึงทำให้โพลียูรีเทนเหมาะกับการใช้เป็นฉนวนกันความร้อนสำหรับห้องเย็น เพื่อรักษาระดับความเย็นจากเครื่องปรับอากาศภายในห้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Modular Compound ผู้ผลิตและจำหน่ายห้องเย็นชั้นนำ มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปี พร้อมตอบรับความต้องการของทุกธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และธุรกิจรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง ธุรกิจร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมอาหาร-อาหารแปรรูป ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของเรา เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับบริการรับติดตั้งห้องเย็นจากเรา


ข้อมูลอ้างอิง


  1. Insulation Materials. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

ดู 28 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page