top of page

วิธีเลือกฉนวนกันความร้อน สำหรับติดตั้งใต้หลังคาและฝาผนัง

รูปภาพนักเขียน: Attaneeya YamasathienraAttaneeya Yamasathienra

ช่างกำลังติดตั้งฉนวนกันความร้อนแบบโฟม

เนื่องจากอุณหภูมิโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ฉนวนกันความร้อนที่ใช้งานเกี่ยวกับอาคารสิ่งก่อสร้าง ที่พักอาศัย สำนักงาน และสถานที่ต่าง ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะสามารถช่วยลดอุณหภูมิความร้อนที่เข้ามาอยู่ในตัวอาคารได้ ทั้งยังช่วยรักษาระดับอุณหภูมิให้คงที่ ทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานกับการใช้เครื่องปรับอากาศภายในอาคารหรือที่พักอาศัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดค่าไฟฟ้าได้อย่างดี


สำหรับองค์กรหรือผู้ที่กำลังมองหาฉนวนกันความร้อนมาใช้งาน ทั้งในส่วนหลังคา เพดาน ฝาผนัง อาจจะยังไม่แน่ใจว่า ควรเลือกฉนวนกันความร้อนแบบไหนดี ที่จะตอบโจทย์กับการใช้งาน ในบทความนี้มีเกร็ดความรู้และเทคนิคการเลือกใช้วัสดุฉนวนอย่างไรเหมาะสมมาบอกต่อ


ฉนวนกันความร้อนสำหรับอาคารและที่พักอาศัยมีกี่ประเภท ?


ในปัจจุบันฉนวนกันความร้อนที่ใช้กันในงานก่อสร้างบ้านและอาคารมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ดังนี้


  • ฉนวนใยแก้ว (Glass Fiber) ทำมาจากแก้วหรือเศษแก้วหลอมและปั่นเป็นเส้น แล้วนำมาขึ้นรูป มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนและเสียงได้ดี มีทั้งแบบแผ่นและแบบม้วน ใช้สำหรับฉนวนผนัง ฝ้าเพดาน โครงสร้างเหนือดาดฟ้าหลังคาและใต้หลังคา พื้นและห้องใต้ถุนตึก

  • ฉนวนใยแร่ (Mineral Fiber) ผลิตจากวัสดุหินแร่ หรือฝอยขี้โลหะ มีรูปแบบคล้ายคลึงกับฉนวนใยแก้ว ช่วยป้องกันความร้อนและเก็บเสียงได้ดีเช่นกัน มีลักษณะการใช้งานทั้งแบบแผ่นใช้กับโครงสร้างหลังคาและบรรจุในโพรงผนัง แบบม้วนใช้หุ้มด้านข้างผนังและอาคาร รวมถึงแบบสเปรย์ในชิ้นงานและใต้หลังคา

  • ฉนวนใยเซลลูโลส (Cellulose) ทำจากเส้นใยเซลลูโลสธรรมชาติ เช่น เยื่อไม้ เยื่อกระดาษ ผสมกับสารเคมีเพื่อป้องกันการติดไฟ มีคุณสมบัติทางความร้อนดี ราคาถูก ดูดซับเสียงดีมาก แต่การติดตั้งค่อนข้างจะยุ่งยาก โดยมีลักษณะการใช้งานแบบ loose fil คือเทบรรจุในช่องผนังและห้องเพดานของอาคารที่พักอาศัย แบบแผ่นใช้สำหรับเพดานหรือใต้หลังคา และแบบฉีดพ่นในช่องว่างใต้หลังคา ฝ้าเพดาน ข้อควรระวังสำหรับฉนวนชนิดนี้ คือ หลีกเลี่ยงการใช้งานในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง อาจเกิดการยุบตัวและทำให้ค่าความเป็นฉนวนลดลงได้

  • ฉนวนแบบโฟม (Foam) เป็นวัสดุฉนวนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น โพลียูรีเทนโฟม, โพลีไอโซไซยานูเรทโฟม, โพลีสไตรีนโฟม, พอลิเอทิลีนโฟม ฉนวนประเภทนี้ ถือเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีสุด เนื่องจากมีค่าการนำความร้อนต่ำเมื่อเปรียบเทียบกันวัสดุฉนวนประเภทอื่นๆ แข็งแรง น้ำหนักเบา แต่เป็นสารลุกไหม้และติดไฟได้จึงต้องมีเปลือกหุ้มที่ต้านทานเปลวไฟ ซึ่งในปัจจุบันจากการพัฒนาโฟมบางชนิดก็สามารถลดการลุกลามของเปลวไฟได้ดี โดยโฟมแต่ละชนิดก็มีข้อแตกต่างปลีกย่อยตามคุณสมบัติของโฟมชนิดนั้นๆ ลักษณะการใช้งานมีรูปแบบทั้งแบบแผ่นอัด แบบม้วนใช้สำหรับหลังคา, ใต้หลังคา และฝาผนัง แบบ loosefil บรรจุในโพรงผนัง แบบสเปรย์ฉีดในชิ้นงาน เหนือดาดฟ้า ใต้หลังคา ช่องผนัง และลักษณะหล่อขึ้นรูปเป็นแผ่นแบบแข็ง สำหรับฉนวนหลังคา พื้น-ฐานราก รวมถึงผนังภายนอกและภายใน

  • ฉนวนอะลูมิเนียมฟอยล์ (Foil) หรือฉนวน Reflective เป็นแผ่นฟอยล์อะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน ช่วยลดการแผ่รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ เหมาะสำหรับติดตั้งกันความร้อนใต้หลังคา ฝาผนัง

  • ฉนวนเซรามิกโค๊ตติ้ง (Ceramic Coating) เป็นฉนวนชนิดเหลวมีลักษณะเป็นฟิล์มยืดหยุ่น เมื่อแห้งจะเป็นชั้นฟิลม์ ใช้สำหรับติดตั้งภายนอกอาคารเป็นเกราะป้องกันและสะท้อนความร้อน ช่วยลดอุณหภูมิภายใน มีคุณสมบัติต้านทานรังสีอัลตร้าไวโอเลต ป้องกันความเสียหายจากรังสี UV ช่วยให้หลังคาและผนังภายนอกอาคารมีอายุการใช้งานยาวนาน

ทั้งนี้ ฉนวนกันความร้อนแต่ละประเภทจะถูกผลิตในหลายรูปแบบ เช่น


  • แบบแผ่น (Board)

  • แบบม้วน (Blanket)

  • แบบเส้นใยอัด (Batts)

  • แบบสักหลาดอัดเป็นแผ่น (Felt)

  • แบบลูสฟิลล์ (Loose Fill)

  • แบบฉีดพ่น (Sprayalble Solids)

  • แบบขึ้นรูป (Mold)


อย่างไรก็ดี วิธีเลือกฉนวนกันความร้อน รูปแบบใดจะเหมาะสม ควรเลือกให้ถูกประเภทกับบริเวณที่ต้องการนำไปใช้งาน และขึ้นอยู่กับแบบก่อสร้างของอาคารเป็นสำคัญ


ใต้หลังคาบ้านที่ทำการติดตั้งฉนวนอะลูมิเนียมฟอยล์

ปัจจัยในการเลือกฉนวนกันความร้อนสำหรับอาคารหรือที่พักอาศัย


สำหรับวิธีการเลือกฉนวนกันความร้อนแบบไหนดี ที่เหมาะกับงานก่อสร้างอาคารและที่พักอาศัย มีปัจจัยในการพิจารณา ดังต่อไปนี้


  1. ความสามารถในการป้องกันความร้อนและคุณสมบัติของฉนวน ด้วยคุณสมบัติของฉนวน หลักๆ คือ การกันความร้อนไม่ให้ผ่านเข้าไปได้โดยง่าย หากแต่ก็มีข้อแตกต่างปลีกย่อยออกไปในวัสดุฉนวนแต่ละชนิด อาจแตกต่างกันที่ระดับค่าการนำความร้อน หรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่มาจากองค์ประกอบของวัสดุฉนวนนั้นๆ เช่น บางชนิดดูดซับเสียงได้ดี บางชนิดทนต่ออุณหภูมิความร้อนที่สูงมากได้ บางชนิดมีอายุการใช้งานยาวนาน เป็นต้น แต่โดยทั่วไป สิ่งที่นำมาพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

    1. ค่าการนำความร้อน (K-value) ควรเลือกฉนวนที่มีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำ ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพการยอมให้ความร้อนผ่านเข้าตัวบ้านและอาคารได้น้อย

    2. ค่าความต้านทานความร้อนของฉนวน (R-Resistivity) คือ ค่าความทนทานต่อความร้อนของวัสดุฉนวน เป็นการป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายใน โดยปกติจะมีค่าผันผวนกับค่าการนำความร้อน (K-value) เช่น หากค่า K ต่ำ ค่า R จะสูง เป็นต้น

  2. ความหนาของฉนวน ความหนาของฉนวนมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิในพื้นที่ติดตั้ง โดยถ้าเป็นอาคารหรือที่พักที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือบริเวณที่ติดตั้งมีการกระทบหรือสัมผัสกับความร้อนสูงหรือเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเลือกใช้ฉนวนที่มีความหนามากขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ดี

  3. ลักษณะการใช้งาน ควรเลือกประเภทของฉนวนให้เหมาะสมกับพื้นที่และบริเวณที่ต้องการติดตั้ง เช่น การติดตั้งฉนวนเหนือหลังคาหรือใต้หลังคา ผนังภายนอก ผนังภายใน หรือโพรงผนัง พื้นและฐานราก เป็นต้น เนื่องจากแต่ละประเภทมีรูปแบบการใช้งานและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

  4. งบประมาณ เนื่องจากวัสดุฉนวนมีราคาตั้งแต่ ราคาย่อมเยาว์ ราคาปานกลาง จนถึงราคาสูง ตามคุณสมบัติของฉนวนแต่ละประเภท อย่างไรผู้ใช้งานสามารถออกแบบและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงบประมาณได้ ประกอบกับให้สมเหตุสมผลกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ติดตั้ง


เมื่อได้ทราบวิธีเลือกฉนวนกันความร้อนให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานและสภาพแวดล้อมที่ต่างกันตามที่กล่าวแล้ว พบว่าส่วนใหญ่มักจะนำมาประยุกต์ใช้กับอาคารบ้านเรือน โรงงานหรือสถานประกอบการทั่วไป เพื่อช่วยลดการนำปริมาณความร้อนจากภายนอกเข้ามา ทำให้ประหยัดค่าพลังงานจากเครื่องปรับอากาศ โมดูล่าร์คอมพาวด์ ขอเสนอผลิตภัณฑ์แผ่นผนังฉนวนกันความร้อนคุณภาพสูง ด้วยฉนวนโครงสร้างที่ใช้ฉนวนโพลียูรีเทน (Polyurethene) ชนิดเดียวกับที่ใช้สร้างห้องเย็น มีความแข็งแรง ทนทาน ติดตั้งง่าย เหมาะกับการใช้งานในทุกสภาพแวดล้อม รับประกันคุณถาพโดยผู้เชี่ยวชาญในการสร้างห้องเย็นมากว่า 40 ปี

ข้อมูลอ้างอิง


  1. Choosing the Right Insulation. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567

  2. WHAT TO CONSIDER WHEN CHOOSING INSULATION MATERIALS. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567


ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page